รูปแบบของเกม
โดย..นาย ศุภ ชลาศัย
ทุกวันนี้มีเกมหลากหลายรูปแบบมาก สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มๆลองเล่นเกม หรือ ผู้ที่เล่นมานานแล้วแต่ยังสงสัยกับความหมายและคำจำกัดความของแนวเกมแต่ละประเภทว่ามีอะไรบ้าง บทความนี้จะไขข้อกระจ่างให้ทุกท่านครับ
รูปแบบเกมหลักๆแบ่งออกได้เป็น
1.ACTION ถือว่าเป็นเกมในรูปแบบแรกๆของวงการเกมเลยก็ว่าได้ อันเนื่องมาจากคำว่า แอคชั่น ก็คือการการทำต่างๆนั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถบังคับสั่งการตัวละครของเราโดยตรงให้กระทำการใดๆตอบโต้กับสิ่งต่างๆในเกมได้เกมๆนั้นก็คือว่าเป็นเกม แอคชั่นแล้ว (แต่รายละเอียดย่อยบางอย่างจะแบ่งรูปแบบเกมออกไปอีก)แต่ถ้าจะระบุให้ชัดเจนกว่านั้น ลักษณะของเกมแอคชั่นก็คือเกมในสไตล์ ลุย ยิง ต่อย เตะ หรืออื่นๆอีกมากมายที่สนองความสะใจให้กับผู้เล่น รูปแบบของเกมแอคชั่นโดยทั่วไปแล้วจะเน้นความเรียบง่ายและเข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก๋า ก็สามารถทำความเข้าใจรูปแบบการเล่นของเกมแนวๆนี้ได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่น Kingkong , The Suffering , Call Of Duty , Rockmanx8 ,
**ใครที่เหมาะกับเกมแนวนี้ เกม แอคชั่นเป็นเกมที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เน้นระบบที่ซับซ้อนมาก เน้นความสนุกที่เข้าถึงง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเล่นเกมแอคชั่นทุกเกมจบได้อย่างสบายๆนะครับ เพียงแต่ว่าคุณจะเล่นและเข้าใจในรูปแบบของเกมแอคชั่นได้ไม่ยากนัก ถ้าอยากลองรีแลกซ์ เล่นเรื่อยๆ เอาความสนุกความมันส์แบบไม่ต้องคิดมากแล้ว เกมแอคชั่นจะเป็นเกมที่สร้างความสุขให้คุณได้ครับ
2.ADVENTURE รูปแบบของเกม ADV จะมีหลายๆส่วนที่คล้ายกับแอคชั่น (เพราะเกมแอคชั่นส่วนใหญ่ก็มักจะใส่ความเป็น ADV ไปด้วย) แต่ถ้าจะระบุจุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดของเกม ADV ก็คือการผจญภัยครับเกมแอคชั่นอาจเป็นเกมที่ไม่มีการดำเนินเรื่องราวด้วยตัวเราเองเลยก็ได้ อย่างเช่นเกมต่อสู้ในซีรีย์ Street fighterแต่ถ้าหากเป็นเกม ADVENTURE จะต้องมีใส่ส่วนของการผจญภัย การดำเนินเรื่องราวและแก้ปัญหาปริศนาต่างๆในเกมที่เรียกกว่า Puzzle เกม ADVENTURE จะเน้นที่การกระทำเพื่อแก้ปัญหามากกว่าโดยอาศัยกลไลและสภาพแวดล้อมต่างๆในเกมให้ผู้เล่นได้ทำการปฏิสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหา ต้องคอยสังเกตุสิ่งต่างๆในเกม อย่างเช่น ถ้ามีศัตรูอยู่ข้างหน้า เกม แอคชั่นก็จะมีบทสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนคือ "เข้าไปจัดการมันซิ " แต่เกม ADV อาจต้องทำอะไรมากกว่านั้น อย่างเช่นไปเปิดกลไกตรงนั้นตรงนี้ อ้อมไปทางนั้นทางนี้เก็บไอเทมอันนั้นมาใส่ตรงนี้ หรืออื่นๆอีกเพื่อที่จะจัดการศัตรูตัวนั้น ยกตัวอย่างเช่น MYST , Sybiria ,Fahrenheit
**ใครที่เหมาะกับเกมแนวนี้ เกมแนว ADVENTURE ออกจะเป็นแนวผู้เล่นเฉพาะกลุ่มนิดนึง ด้วยความที่ว่าADVENTURE (แบบดั้งเดิม) เป็นแนวที่เล่นค่อนข้างยาก มีปริศนาหรือเรื่องราวต่างๆให้ครุ่นคิดตลอดทั้งเกม ต้องช่างสังเกตุและช่างคิด(อย่างมาก) เกม ADVENTURE จะไม่ใช่แนวประเภทที่ว่า ต้องอาศัยฝีมือหรือความคุ้นเคยในการบังคับและการเล่นเพื่อกรุยทางสู่ชัยชนะแบบเกมแอคชั่น แต่จะเน้นที่การสังเกตุสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นๆ เพื่อ
จับเอาส่วนต่างๆมาแก้ปัญหาในเกมมากกว่า ถ้าหากคุณเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตุ ชอบแก้ปัญหาและปริศนาต่างๆ ชอบบุ๋นมากกว่าบู๊แล้ว คุณอาจหลงเสน่ห์กับความคลาสสิคของเกม ADVENTURE ที่เปิดเล่นทีไรก็ได้ลับสมองทุกทีไป
3.STRATEGY หรือเกมวางแผนนั่นเอง โดยแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น Realtime Strategy และ Turnbase Strategy
3.1 REALTIME STRATEGY หรือที่เรียกกันย่อๆว่า RTS เป็นเกมวางแผนแบบที่จับเวลาจริงในขณะเล่น คือในระหว่างที่เรากำลังเล่นอยู่ (วางแผน จัดรูปแบบทัพ สร้างฐาน หรืออะไรก็ตาม) ฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็น Player(ผู้เล่นด้วยกัน) หรือ AI (คอมพิวเตอร์บังคับ) ก็จะเล่นไปพร้อมๆกับเรา ดังนั้นลักษณะการเล่นเกมแบบนี้คือการวางแผนแข่งกับเวลา(ส่วนใหญ่) เพราะในระหว่างที่เรากำลังวางแผนจัดการเรื่องต่างๆอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็กำลังจะทำเหมือนกับเรา โดยเกมวางแผนแบบ RTS ถือเป็นเกมวางแผนทีได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ (จริงๆก็ได้รับความนิยมมานานแล้ว) อันเนื่องมาจากรูปแบบการเล่นที่เห็นผลของการวางแผนได้รวดเร็วชัดเจน ตอบสนองและเห็นผลเป็นรูปธรรมในการวางแผนของเราได้ทันที (เช่น สร้างยูนิตพร้อมเมื่อไหร่ก็ใช้ลุยกับศัตรูได้ทันที) รูปแบบการเล่นไม่ยืดเยื้อ (เพราะเป็นการวางแผนไปพร้อมๆกัน) สามารถเล่นพร้อมกันทีเดียวได้หลายคน
**ใครที่เหมาะกับเกมแนว RTS ในโลกของเกม RTS แล้วมี RTS หลากหลายรูปแบบมากตั้งแต่ RTS ที่มีรูปแบบการเล่นไม่ซับซ้อนไม่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรอะไรมากก็พร้อมลุยได้ทันทีเช่น Warhamer 40k สุดยอด RTS ผู้เล่นหลายคนในตอนนี้ แต่ในขณะเดียวกัน RTS บางเกมก็ต้องใช้การจัดการวางแผนที่ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการศึกษาระบบและอินเตอร์เฟตพอสมควรเช่น Age Of Empire3 และ Empire Earth2 ดังนั้น RTS จึงเป็นเกมในลักษณะกึ่งยิงกึ่งผ่าน(ขอยืมศัพท์บอลใช่หน่อย^_^) คือแม้แต่คนที่ไม่ชอบเรื่องการวางแผนซับซ้อนแต่ชอบเกมที่มีการต่อสู้สนุกเร้าใจน่าติดตาม ก็จะสนุกไปกับ RTS หลายๆตัวในตอนนี้ได้ หรือคนที่เป็นแฟนพันธ์ของเกมวางแผนตัวยง ก็จะสนุกกับเกม RTS ที่มีระบบซับซ้อนมีการวางแผนอย่างละเอียดได้เช่นกัน
3.2 TURNBASE STRATEGY (TBS)หรือเกมวางแผนแบบผลัดกันเดิน หลายๆท่านอาจจะไม่เคยเห็นหรือไม่รู้จักเกมแนวนี้มากนัก อันเนื่องมาจากเกม TBS ถือเป็นเกมวางแผนสไตล์ดั้งเดิมที่มานานแล้วมากๆ (Dune2 ต้นกำเนินของเกม RTS เพิ่งจะมีมาราวๆ10กว่าปีโดยประมาณครับ) TBS เป็นเกมวางแผนที่รับแรงดลใจมาจากเกมกระดานกันนั่นเอง (เกมกระดานคือเกมที่เราเอาแผนที่วางไว้บนโต๊ะแล้วคิดรูปแบบการเล่นขึ้นมาในกระดานหรือแผนที่นั้นๆ อย่างเช่น ผลัดทอยลูกเต๋า แล้วเดินไปตามจุดเพื่อเจอกับ เหตุการณ์ในแต่ละช่อง ) ดังนั้นส่วนสำคัญที่ทำให้ TBS ต่างจากเกมแบบอื่นๆคือรูปแบบการเล่น TBS จะใช้การผลัดกันเล่นโดยเมื่อถึง Turn เรา(Turn เราก็คือ Turn ที่เรามีสิทธ์จะวางแผนและจัดการในด้านต่างๆ) เราก็จะทำการจัดการวางแผนตามรูปแบบที่เกมกำหนดมาอย่างเช่น ใช้ยูนิตเดินไปช่องนั้นช่องนี้เพื่อเก็บทรัพยากร(ยูนิตจะมีค่าในการเคลื่อนไหวไปตามแผนที่) จัดการสร้างสิ่งก่อสร้างหรือยูนิตต่างๆ โดยเมื่อเราทำตามทุกอย่างที่ต้องการหมดแล้วก็ต้องกดจบ Turn แล้วก็จะเข้า Turn ผู้เล่นคนอื่น หรือคอม ซึ่งก็จะทำการวางแผนและจัดการด้านต่างๆเช่นเดียวกับเรา เมื่อจัดการทุกอย่างพอกดจบ Turn ก็จะเข้า Turn ของเรา สลับผลัดเปลี่ยนไปแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเงื่อนไขที่กำหนดในการสิ้นสุดเกม (เช่น จัดการศัตรูทั้งหมด ได้ทรัพยาการเท่านั้นเท่านี้) ตัวอย่างของเกมแนวนี้ Civilization 4 , Hero Of Might And Magic4 , SilintStrom,Worm4
**ใครที่เหมาะกับเกม TBS อย่างทีบอกไว้ข้างต้นลักษณะรูปแบบของ TBS จะไม่ใช่การวางแผนแบบที่เห็นผลของการกระทำทันทีอีกทั้งลักษณะการเล่นส่วนใหญ่แล้วอาจไม่ทันใจคนที่ชอบเล่นเกมที่ตัดสินผลเร็วๆ โดยเฉพาะกรณีทีเล่นกับผู้เล่นด้วยกัน เพราะ TBS นั้นจะมี Turn ของแต่ละคน ซึ่งจะต้องรอ Turn ของกันและกันตลอด แต่ข้อดีของแนว TBS คือเป็นเกมวางแผนที่ได้ใช้เวลาคิดในการเล่นไม่จำเป็นต้องรีบร้อนจัดการทุกอย่าง ได้ใช้แง่คิดหลายอย่างที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ในระหว่าง Turn ของเรา เราจะต้องคิดเผื่อไปถึง Turnของฝ่ายตรงข้ามด้วยว่าผลของการกระทำของเราใน Turn นี้ทั้งหมดจะส่งผลกระทบอะไรบ้างกับ Turn ของฝ่ายตรงข้าม การเล่นค่อนข้างจะพลิกแพลงได้ตลอด อย่างเช่นเราอาจทำมาดีตลอด แต่การตัดสินใจพลาดเพียงแค่ Turn เดียวอาจทำให้เราแพ้เกมๆนั้นไปเลยก็ได้ซึ่งถ้าใครชอบเกมวางแผนดั้งเดิมที่สามารถคิดไปเรื่อยๆระหว่างเล่นได้คงจะชอบเกมแนวนี้โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้ชื่นชอบรูปแบบของเกมกระดานทั้งหลายที่ผลัดกันเล่นเป็นพิเศษแล้วเกม TBS เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
4.ROLE PLAYING GAME หรือที่เราคุ้นหูกันดีกับตัวย่อว่า RPG นั่นเอง เกม RPG ถือเป็นหนึ่งในแนวเกมที่ค่อนข้างจำแนกในลำบากในขณะนี้อันเนื่องมาจากรูปแบบเกมสมัยใหม่ที่มักจะใส่แนวการเล่นไปมากกว่า 1 เสมอ แต่ถ้าจะเอาตามรากฐานของศัพท์และความหมายแต่ดั่งเดิมแล้ว RPG คือเกมที่เราจะได้สวมบทบาทของตัวละครนั้นๆนั่นเอง แต่เดิมที่เกมประเภท action หรือ adventure ถึงเราจะได้บังคับตัวละครก็จริง แต่จะเป็นไปในลักษณะสั่งหุ่นยนต์ให้ทำตามที่เราสั่งมากกว่า แต่ RPG จะลงลึกไปในรายละเอียดตัวละครมากกว่านั้นที่เด่นชัดที่สุดคือรูปแบบของการ พัฒนาตัวละครที่ RPG ทุกเกมจะต้องมีไม่ว่าจะมีในรูปแบบใดก็ตามเมื่อเราเล่นไปเรื่อยๆ ตัวละครเราก็จะพัฒนาความสามารถไปเรื่อยๆ หลายๆเกมก็เปิดกว้างให้เราปรับแต่งรายละเอียดทุกอย่างของตัวละครได้แบบลงลึกไปถึงค่า Statusของตัวละครเช่น ความแข็งแกร่ง ความเร็ว พลังป้องกัน ความสามารถเฉพาะตัวด้านต่างๆ อย่างที่ 2 คือ เรื่องราวภายในเกมคงจะกล่าวไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเกมที่จะทำให้เราเข้าใจโลกของเกมนั้นๆได้อย่างชัดเจนเข้าถึงโดยตรงที่สุด หนึ่งในนั้นจะต้องมีเกม RPG อยู่แน่นอนเพราะ RPG จะลงลึกไปถึงขนาดที่ว่าเราไปเป็นผู้ดำเนินเรื่องราวต่างๆด้วยตัวเราเอง (หลายๆเกมให้อิสระที่จะเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆในเกมได้ด้วยตัวเราเองด้วย) คำพูดและบทสนทนาต่างๆจะทำให้เราเข้าใจโลกของเกมมากขึ้น อย่างเช่นการคุยกับ NPC (ตัวละครที่ควบคุมโดยคอม) คนนึงเราก็อาจจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆในโลกของเกมๆนั้น การดำเนินเนื้อเรื่องของบางเกมจะมีภารกิจต่างๆให้เราทำด้วย ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงการสวมบทบาทไปที่ตัวละครนั้นๆอย่างชัดเจน ตัวอย่างของเกม RPG Diabo2,Final Fantasy,Dungeon Siege2
**ใครที่เหมาะกับเกม RPG เกม RPG เป็นหนึ่งในประเภทเกมที่มีอะไรๆให้เราได้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดำเนินเรื่องราว หาของ พัฒนาความสามารถ ต่อสู้ ไขความลับต่างๆ ดังนั้นคนที่ชอบเกมที่มีอะไรๆให้ทำเยอะๆ ชอบอ่านและสนใจติดตามเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆชอบเกมที่ตัวละครเราไม่หยุดนึ่ง มีภารกิจและเป้าหมายหลายอย่าง ชอบที่จะสำรวจและเข้าใจเรื่องราวต่างๆด้วยตัวเองก็น่าจะชอบเกมแนวนี้ แต่พึงระลึกอยู่อย่างนึงว่าส่วนใหญ่แล้ว RPG จะเป็นเกมที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ(โดยเฉพาะการต่อสู้พัฒนาความสามารถตัวละคร)และจดจ่ออยู่กับค่าสถิตติ และอุปกรณ์ของต่างๆ บางเกมใช้ระบบทำเควสมากกว่าต่อสู้ซึ่งก็ต้องอาศัยการอ่านบทสนาและทำความเข้าใจในสิ่งที่เกมต้องการจะให้เราทำ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องราวภายในเกม RPG จำเป็นจะต้องอ่านเรื่องราวภายในเกมมากกว่าเกมประเภทอื่นๆอย่างน้อยๆก็ตอนทำเควส และความสนุกส่วนนึงอยู่ที่เนื้อเรื่องด้วย ถ้าหากเราไม่เข้าใจแล้ว RPG อาจเป็นแค่เพียงเกมที่ไม่มีจุดหมายเลื่อนลอย และจะทำให้เราเบื่อไปในที่สุด
ปล.อ่านส่วนเพิ่มเติมของ RPG ได้ในภาคผนวกครับ
5.SIMULATION หรือเกมจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆนั่นเอง เกม SIM มีความหมายบางส่วนที่คล้ายกับ RPG คือเป็นการสวมบทบาทเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ RPG จะสวมบทบาทตัวละครหนึ่งๆ(อาจเป็นคนหรืออะไรก็ได้ และอาจบังคับพร้อมๆกันหลายคนหรือเปลี่ยนกันบังคับก็ได้ ) แต่ SIM จะกว้างกว่านั้นเช่นเป็นผู้บริหารประเทศบริหารเมือง จัดการสวนสัตว์ สวนน้ำ หรือสั่งการตัวละครทีเป็นคนจริงๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน (SIM2 ไงล่ะ) หรือจำลองรูปแบบอื่นๆอีกเช่นเป็นนักบินคนขับรถถัง เรือดำน้ำ นักแต่งรถ ตัวอย่างของเกมแนว SIMULATION Simcity4 , The Sim2 , Falcon4.0
**ใครที่เหมาะกับเกมแนวนี้ SIMULATION เป็นการจำลองและลอกเลียนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่คุณชอบเช่นถ้าหากคุณเป็นคนที่ชอบ เครื่องบินเป็นชีวิตจิตใจใผ่ฝันว่าซักครั้งนึงอยากจะได้ลองขับเครื่องบินนั้นๆจริงๆ คุณคงจะชื่นชอบกับเกมจำลองการขับเครื่องบินจริงๆ(Falcon4.0) ซึ่งหลายๆเกมทำได้ดีชนิดที่ว่า ถอดแบบมาจากเครื่องบินต้นฉบับจริงๆเลย หรือถ้าคุณเป็นผู้ชื่นชอบการจัดการบริหารเมืองด้านต่างๆ อยากทำโน่นทำนี่ เกมอย่าง Simcity4 ก็ตอบสนองให้คุณได้ หรือถ้าไม่ต้องการเล่น เกม SIM ที่มีระบบการจัดการที่ซับซ้อนแล้วเกมอย่าง The Sim2 ที่นำรูปแบบของ SIMULATION มาใกล้ตัวที่สุดเล่นง่ายที่สุด กับการสั่งการตัวละครให้ทำในสิ่งที่ชีวิตประจำวันของเราจะต้องทำอยู่แล้วก็จะเป็นที่ชื่นชอบของคุณไม่น้อย
6.Sports ความหมายชัดเจนในตัวเลย เกม Sports ก็คือเกมกีฬานั่นเอง เกมอะไรก็ตามทีเป็นเกี่ยวกับกีฬาไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล
บาสเก็ตบอล เทนนิส ก็ถือว่าเป็นเกมกีฬาทั้งนั้นเพียงแต่ว่าองค์ประกอบย่อยในส่วนของ Sport จะมีความแตกต่างกันในด้านของรูปแบบการเล่นโดย sport ที่บังคับในสนามจริงๆ สั่งการเหมือนกับว่าเราเป็นผู้เล่นเองก็อย่างเช่นพวก Wining Eleven9 ,FIFA2006,NBA Live 2006 หรือบางเกมก็เป็นเกมวางแผนที่ให้เราจัดการรายละเอียดต่างๆเหมือนกับว่าเราเป็นผู้จัดการเอง เช่น Football manager2006 ,CM5 , FIFA MANAGER
**ใครที่เหมาะกับเกมแนวนี้ อย่างแรกเลยถ้าหากเป็นกีฬาที่เราให้ความสนใจและติดตามโดยตลอด ก็จะทำให้เราเข้าถึงเกมได้ไม่ยากอย่างเช่น Football manager2006 ถ้าหากคุณเป็นติดตามข่าวด้านกีฬาฟุตบอลมาโดยตลอดและชื่นชอบแล้วเมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเกมได้แล้วจะเกมที่สร้างความสนุกให้คุณได้มากๆ ส่วนเกมอย่างพวก Wining Fifa หรือ NBA ถึงแม้จะไม่ใช่คนที่ชื่นชอบกีฬาตรงนี้แต่ถ้าหากชอบระบบการเล่นของเกม ที่สนุกมีลูกเล่นพลิกแพลงต่างๆ เกม Sport ก็สร้างความสนุกให้คุณได้ไม่แพ้เกมแอคชั่นเลย
7.Racing หรือเกมขับรถหรืออื่นๆที่เกี่ยวกับการแข่งด้านความเร็วเช่น แข่งสกี ขับยาน(เพียงแต่การขับรถจะมากกว่าประเภทอื่นๆความจริงเกมแนวนี้จะอยู่ในจำพวกเดียวกับSports ก็ได้เพราะหลายๆคนก็ถือว่าการแข่งรถเป็นกีฬาอย่างนึงแต่ Racing เองอาจจะเป็นการแข่งรถที่อิสระไม่เกี่ยวกับกีฬาใดๆก็ได้ อย่างเช่น Need For Speed เกมขับรถตระเวณราตรีในใจหลายๆคนรูปแบบของเกม Racing โดยรวมๆแล้วจะเกี่ยวกับการแข่งกันด้านความเร็ว และการบังคับรถ (แต่ก็อาจมีรูปแบบอื่นๆที่ไม่ใช่แข่งความเร็วก็ได้)อย่างเช่นแข่งกันทำคะแนน แข่งกันทำท่าผาดโผน
**ใครที่เหมาะกับเกมแนวนี้ Racing เป็นเกมที่หนีไม่พ้นเรื่องแข่งกันด้านความเร็ว ถ้าคุณเป็นคนที่ชื่นชอบด้านความเร็ว ชอบขับรถซิ่งตามสนามแข่งหรือแข่งโลดโผนโจนทะยานแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่นๆแล้ว เกมแนวนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ตรงใจคุณ
ภาคผนวก : ประเภทเกมหรือแนวเกมในปัจจุบันนี้มีการนำเสนอจุดขายในด้านต่างๆมากกว่าด้านเดียว ถ้าเป็นเมื่อก่อนการจะบอกว่าเกมๆนึงเป็นเกมประเภทไหนอาจจำแนกได้ไม่ยากอันเนื่องมาจากรูปแบบที่ค่อนข้างเห็นชัดในตัวเอง ยกตัวอย่างแนวเกมลูกผสมที่น่าสนใจเช่น
Action/RPG เกมแนวนี้มีต้นกำเนิดมาจากรูปแบบดั้งเดิมของ RPG ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้การผลัดกันเล่นแบบ Turnbase เป็นหลักตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็ Final Fantasy ไงครับ ซึ่งรูปแบบนี้ก็มีข้อเสียในตัวมันเองก็คือ ความชักช้าและเสียเวลาไม่ทันใจในการต่อสู้ รูปแบบการต่อสู้ไม่เร้าใจเพราะเหมือนกับว่าเราไม่ได้เป็นคนต่อสู้เอง (ได้แต่ออกคำสั่ง) และยากที่ดึงกลุ่มผู้เล่นใหม่ๆมาได้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาแล้วเกมที่ขายได้ดีในตัวมันเองแบบไม่ต้องคิดมาก มากที่สุดก็คือเกมแอคชั่นนั่นเอง ทำให้เริ่มมีการนำรูปแบบของการต่อสู้แบบ แอคชั่นเข้ามา โดยช่วงแรกๆเกม RPG ที่ออกมาก็ยังเป็นไปในลักษณะ แอคชั่น แบบ หยุดเวลา งงมั้ยล่ะครับความหมายก็คือการเล่นและต่อสู้โดยทั่วๆไปแล้วก็คล้ายๆกับเกมแอคชั่น เพียงแต่ว่าเราจะสามารถหยุดเวลาเพื่อออกคำสั่งต่างๆให้กับตัวละครได้ อย่างเช่น สั่งให้ตัวละคร A ไปโจมตีมอนเตอร์สั่งให้ตัวละคร B เติมเลือดให้ตัวละคร A ซึ่งทุกวันนี้รูปแบบนี้ก็ยังมีมาอยู่จนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะกับเกมที่มี party ตัวละคร ที่เห็นชัดๆไม่นานมานี่ก็ Dungeon Siege2 ไงครับ แต่.....แต่ได้มีผู้ผลิตรายนึงได้ฉีกนิยามของคำว่าเป็น RPG ทิ้งซะกระจุยจากเดิมที่ RPG เป็นเกมที่มีรูปแบบการเล่นค่อนข้างยาก มีบทสทนาให้อ่านแบบเยอะมาก ถึงขนาดเจ้าของภาษายังบ่น รูปแบบการต่อสู้ก็ค่อนข้างที่จะซ้ำซากไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร ไม่ค่อยบอกแนวทางการเล่นให้ผู้เล่นมากนัก ทำให้ RPG เป็นเกมที่เข้าถึงได้เฉพาะผู้เล่นบางกลุ่มเท่านั้น แต่มือใหม่ๆหรือคนที่ไม่เคยเล่นมากกว่ายากที่จะสนุกกับเกมได้ในทันที ผู้ผลิตที่ผมว่าก็คือ Blizzard นั่นเองครับทันทีที่เกมDiablo ออกจำหน่ายได้สร้างปรากฎการใหม่ๆมากมายให้กับวงการเกม อาทิเช่นนำกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่เคยคิดหรือไม่เคยที่แม้แต่จะหันไปมองเกม RPG ให้มาเล่นเกมๆนี้ได้อย่างถล่มทลาย จนยอดขายติดอันดับเกมขายดีในอันดับต้นๆ Diablo มีจุดขายที่แตกต่างจากเกม RPG ทั่วๆไปคือ ไม่ต้องคิดอะไรมากสนุกก็พอ RPG บางเกมกว่าที่จะผ่านขั้นตอนเนื้อเรื่อง บทสทนา เหตุการณ์ต่างๆจนถึงฉากต่อสู้ บางทีผู้เล่นก็อาจง่วงจนหลับไปก่อนแล้ว แต่ Diablo2 สามารถเข้าสู่ฉากต่อสู้ได้ทันทีเพียงแต่แค่คุณก้าวออกจากเมืองๆแรกเพียงแค่ก้าวเดียว ระบบการต่อสู้เรียบง่ายไม่ซับซ้อน คลิ๊กซ้ายโจมตี เก็บของ คลิ๊กขวาใช้เวทย์ skill เนื้อเรื่องและเควสต่างๆเป็นเส้นตรงไม่ต้องคิดอะไรมากขอแค่ให้คุณอ่านรายละเอียดเควสซักนิดกับเดินสำรวจฉากให้ทั่วยังไงก็ผ่าน ระบบการอัพความสามารถที่นำ skill tree มาใช้ทำให้เห็นภาพรวมว่าตัวละครของเราจะไปทางไหน ทั้งหมดนี้ทำให้ Diablo 1 และ 2 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนกลายมาเป็นปรากฎการณ์ Diablo Clone จนถึงทุกวันนี้ ( Diablo Clone คือเกมที่เลียนแบบแนวคิดของ Diablo ไงล่ะครับ บางเกมก็เอามาแค่บางส่วน บางเกมเอามาทั้งดุ้น บางเกมเอามาประยุกต์ ) ณ.ปัจจุบันนี้เกม RPG ในท้องตลาดส่วนใหญ่ก็เลยกลายเป็นรูปแบบ Action/RPG กันเกือบหมด
-Action/Adventure จากทีเคยได้เกริ่นไว้ในข้างต้นแล้วว่าแอคชั่นยุคใหม่ได้มีการนำส่วนของ Adventure เข้ามาด้วยสาเหตุเพราะแต่เดิมทีแล้วถึงแม้ว่าเกมแอคชั่นจะเป็นเกมที่สนุกในตัวมันอยู่แล้วแต่รูปแบบการเล่นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นน่าติดตามเพราะก็จะออกแนว ลุยๆผ่านด่านเคลียร์บอสแล้วก็จบ ซึ่งสาเหตุนึงก็มาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของกราฟฟิคเกมด้วย ทำให้ผู้ผลิตมีทางเลือกในการสร้างสรรค์เกมในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นรวมไปถึงรูปแบบ Action/Adventure ข้อดีของ Action/Adventureจะอยู่ที่ถึงแม้เกมที่มีในส่วนของการแก้ปริศนาต่างๆแต่ปริศนาใน Action/Adventure ส่วนใหญ่จะไม่โหดและถึงลูกถึงคนขนาด Adventure แท้ๆแต่ดั้งเดิม นอกจากนั้นจะได้ในส่วนของความสนุกในแบบแอคชั่นเข้ามาเสริมด้วย (Adventure แท้ๆจะไม่มีการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามโดยตรง อาจทำได้แค่เพียงทางอ้อมๆอย่างเช่น หาของชิ้นนี้ชิ้นนี้ไปจัดการ สับกลไกต่างๆ ) ทำให้รูปแบบAction/Adventure กลายมาเป็นเกมที่สนุกและน่าติดตามไปในตัว ตัวอย่างของเกม Action/Adventure เช่น Beyond Good and Evil, Prince OF Persia Sand Of The Time, Psychonauts
เกมลูกผสมอื่นๆ นอกจาก Action/Adventure และ Action/RPG ที่กล่าวมาแล้วเกมยุคใหม่หลายๆเกมได้นำส่วนผสมของหลายๆแนวเข้าด้วยกันอย่างเช่น Warcraf3 หรือ Lord Of The Ring Battle For MiddleEarth ที่นำในส่วนของการพัฒนาความสามารถตัวละครแบบ RPG มาใช้ในเกมแนว RTS หรือ John Of Arc ที่เป็นทั้งเกม Action/RPG และ RTS ในตัว(ขึ้นอยู่กับการเลือกรูปแบบตอนท้ายๆ)หรือ Spellforce ที่เป็น RPG ที่เล่นได้ทั้งมุมมองแบบ RTS และ มุมมองบุคคลที่3
แล้วชื่อย่ออื่นๆล่ะ หลายคนอาจยังสังสัยกับชื่อย่อของแนวเกมบางประเภทที่เห็นบ่อยๆตอนนี้ก็ MMORPG กับ FPS
MMORPG ย่อมาจาก Massively Mutiplayer Online Role Playing Game ซึ่งก็คือเกม RPG ที่ต้องเล่นออนไลน์ร่วมกับผู้เล่นคนอื่นๆ(ที่เป็นคนจริงๆ)นั่นเอง โดยจะต้องเล่นผ่านทาง Server ที่ผู้ให้บริการเกมได้จัดเตรียมไว้ แต่ละเกมก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาการเล่นที่แตกต่างกัน บางเกมก็มีระบบเควสย่อยมากมายเหมือนเกม RPG ออฟไลน์ ซึ่งที่จริงแล้วเกมที่ทำมาเพื่อเล่นออนไลน์อย่างเดียวเราจะเรียกว่า MMO ความหมายก็คือเกมที่ต้องเล่นออนไลน์ร่วมกันหลายๆคนนั่นเองแหละครับ เพียงแต่ว่าเกมออนไลน์ส่วนใหญ่ในตอนนี้มักจะเป็นรูปแบบ RPG ซะเป็นส่วนมากทำให้เราคุ้นกับคำว่า MMORPG มากกว่า
FPS บางคนอาจตั้งคำถามว่าแอคชั่นกับ FPS ต่างกันตรงไหน จริงๆแล้ว FPS (Frist Person Shooting) คือการให้คำนิยามเกมแอคชั่นให้แคบลงในแง่รูปแบบการเล่นนั่นเอง เพราะ FPS หรือเกมยิงมุมมองบุคคลที่1 คือเกมแอคชั่นที่เราจะได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆจากมุมมองที่เหมือนกับมุมมองจริงๆของเราเอง ส่วนที่ว่าทำไมเกมยิงแบบมุมมองบุคคลที่3 ไม่เรียกกว่า TPS (Thrid Person Shooting)ก็เพราะว่ามุมมองบุคคลที่ 3 เป็นมุมมองแต่ดั้งเดิมของเกมแอคชั่น (FPS เกิดทีหลังน่ะครับ) ทำให้เกมยิงแบบมุมมองบุคคลที่3 ก็จะถูกเรียกสั้นๆว่าแอคชั่นไปโดยปริยาย
สรุปปิดท้าย บทความนี้เป็นเพียงแนวทางการจำแนกประเภทของเกม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลายคนอาจมีมุมมองในประเภทของเกมที่แตกต่างจากนี้ อันเนื่องมากจากรูปแบบของบางเกมที่อาจมองได้หลายมุม