เด็กติดเกม
โพสโดย นายสมวงษ์ แปลงประสพโชค
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ปวดเศียรเวียนเกล้ามาก หนึ่งในนั้นคือ เด็กติดเกม ที่ขยายความรุนแรงไปทั่วประเทศ หลายครอบครัวพยายามแก้ไขด้วยสารพัดวิธี สารพัดรูปแบบ...แก้ไขไม่ได้ เพราะเรื่องของ"เด็กติดเกม " ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายและต่อเนื่องด้วย
อย่างไรที่เรียกว่าเด็กติดเกม
การพูดว่า"เด็กติดเกม " ของคนในสังคมทั่วไป กับ "เด็กติดเกม " ทางการแพทย์ ไม่เท่ากัน
พ่อแม่ผู้ปกครอง เห็นลูกหลานตัวเองเล่นเกมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรืออยู่หน้าโทรทัศน์นานสักหน่อย ก็เรียกว่า "ติดเกม " แล้ว แต่เป็นการติดทางใจ
ทางการแพทย์พูดถึงการติด คือการติดที่มีอาการทางกาย เพราะว่าร่างกายพึ่งพาสารบางอย่างจากภายนอก เช่น สารเสพติด (ยาบ้า เฮโรอีน) หรือสารที่หลั่งภายในร่างกายเราเองแต่เกิดจากการกระตุ้นจากภายนอก เช่น การเล่นการพนัน การเล่นเกม เป็นต้น
หากมองเรื่องการติดเกม อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ชอบ
ชอบ... ไม่ใช่ติด
ทุกคนมีความชอบได้ แต่ต้องไม่เสียการควบคุมตนเอง บางคนชอบร้องเพลง บางคนชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชน ขณะที่บางคนชอบเล่นกีฬา ความชอบเหล่านั้นทำให้เจ้าตัวมีความสุข แต่ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก ซึ่งมีหลายทางเลือก
ระดับที่ 2 คลั่งไคล้
หมกมุ่น... คลั่งไคล้ เริ่มไม่ทำกิจกรรมอื่น
คนที่คลั่งไคล้ จะเริ่มคุมตัวเองไม่ได้ เช่น วันนี้ตั้งใจจะไม่เล่นเกม พยายามบอกตัวเองว่างดเล่น 1 วัน แต่อดใจไม่ได้คุมตัวเองไม่ได้ สุดท้ายก็เล่นเหมือนเดิมการคลั่งไคล้ยังไม่ถึงขั้นติด แต่เสียการควบคุมตนเอง
ระดับที่ ๓ การติด
ติดหรือไม่... เส้นแบ่งอยู่ที่การเสียการทำหน้าที่
ทุกคนมี " หน้าที่ " ของตัวเอง เด็กมีหน้าที่หลักคือการเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ และใช้เงินทองให้เหมาะ
สมพฤติกรรมของเด็กที่เสียการทำหน้าที่ เช่น ไม่อ่านหนังสือ โดดเรียน ใช้เงินหมดไปกับการเล่นเกม โกหก ซึ่งเป็นผลพวงจากการเล่นเกม
อาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้ขึ้นกับความรุนแรง ดังนั้นจึงวัดกันที่เสียการทำหน้าที่
อาการเด็กติดเกม
อาการของเด็กติดเกมโดยทั่วไปสังเกตได้จากเริ่มเสียการทำหน้าที่ รวมถึงทำกิจกรรมอย่างอื่นน้อยลง เช่น
เคยดูโทรทัศน์ เริ่มไม่ดู ไม่สนใจโทรทัศน์
เล่นกีฬาฟุตบอล เล่นน้อยลง หรือเลิกไปเลย
เล่นเกมจนลืมเวลา ไม่กินข้าว ไม่นอน รุ่งขึ้นเช้าไปโรงเรียนไม่ไหว
ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเกม จนกระทั่งหนีเรียนเพื่อไปเล่นเกมอย่างเดียว
ไม่รับผิดชอบงานบ้านที่ตนเองมีหน้าที่จะต้องทำ
อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนไป จนถึงขั้นพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง
การติดเกมแตกต่างจากการติดเชื้อโรคของร่างกาย
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายคนเราปุ๊บเป็นโรคทันที แต่การติดเกมเป็นเรื่องระดับความรุนแรงของ
อาการการติดเกมเป็นโรคหรือไม่
การติดเกมเต็มรูปแบบถือว่าเป็นโรค (ซึ่งเหมือนกับการติดสารเสพติดทั้งหลาย เช่น บุหรี่ สุรา ยาบ้า กัญชา เฮโรอีน)
เปรียบคล้ายกับคนติดสารเสพติด พยายามแสวงหามาเสพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กติดเกมก็พยายามแสวงหาการเล่นเกม และต้องเล่นยาวนานมากขึ้น ถ้าไม่ได้เล่นก็จะหงุดหงิด และลงเอยที่การเสียการทำหน้าที่
โรคติดเกมเป็นโรคที่ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม
ป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม
การป้องกันเด็กติดเกมที่ดีที่สุดคือ วินัยและความรับผิดชอบ
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องสอนเด็กให้มีวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่เล็ก
วินัยคือข้อห้าม ข้อปฏิบัติของเด็ก
เด็กจะทำอะไรต้องมีขอบเขต เป็นต้นว่า ดูโทรทัศน์วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เล่นของเล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่ ห้ามเล่นของเล่นก่อนทำการบ้าน
มอบความรับผิดชอบ
นอกจากวินัยแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรมอบความรับผิดชอบให้เด็กทำตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักมีความรับผิดชอบ ต้องทำอะไรบางอย่างถึงแม้จะเบื่อทำขี้เกียจทำแต่ต้องทำ
การมอบความรับผิดชอบให้เด็กเป็นการฝึกให้รู้ว่าเขามีหน้าที่บางอย่างนะ ไม่ใช่ละทิ้งหน้าที่แล้วเล่นแต่เกมเด็กที่ถูกฝึกมาน้อยจะคุมตัวเองได้ยาก และจะเพลินไปกับเกม พ่อแม่ห้ามเรื่องเกม (โดยเฉพาะเด็กไม่ได้ถูกฝึกมาก่อน) จะโวยวาย ออกอิทธิฤทธิ์ เพราะพ่อแม่ไม่เคยบังคับ
หัวใจสำคัญคือ สร้างวินัยและความรับผิดชอบ ให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เพราะจะทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมบังคับตัวเอง ง่ายต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป
การฝึกวินัยให้เด็กเล็ก เช่น กินข้าวอิ่มแล้วก็ต้องนำภาชนะไปล้าง ของเล่นเมื่อเลิกเล่นก็ต้องเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย ทำบ้านสกปรกก็ต้องเก็บกวาดให้สะอาด เหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กต้องฝึกรับคำสั่งฝึกรู้กฎระเบียบในบ้าน
นี่คือวินัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากไม่ควรมองข้ามแล้ว เป็นเรื่องสำคัญด้วย เพราะเด็กที่โตมาแล้วประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องไม่เล่นเกมจะต้องเป็นคนมีวินัยและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทั้งการเรียน การทำงานและชีวิตครอบครัว
ถ้าจะป้องกันเด็กติดเกมต้องทำเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องประกอบ
พ่อแม่และผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศ ให้เด็กค้นพบความสุข ความสนุกหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แต่เรื่องเกม เด็กบางคนเล่นฟุตบอลเก่ง บางคนร้องเพลงเก่ง ก็รู้สึกอยากจะไปสิ่งเหล่านั้น
ตามหลักจิตวิทยาพื้นฐานคนเราจะวิ่งไปหาสิ่งที่ตัวเองประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข และเกมก็ให้สิ่งนั้น เมื่อเด็กเล่นแล้วชนะ ยิงถูกได้คะแนน เล่นแล้วเพื่อนฝูงตบมือให้ เล่นชนะแล้วคนในเกมออนไลน์ชมกันใหญ่ เล่นอย่างไรสอนหน่อย เด็กได้ความภูมิใจ ได้ทุกอย่าง (แตกต่างจากการอยู่โลกภายนอก เพราะถูกพ่อแม่ ครูว่า ตำหนิตลอด) เขาได้ความสุข คำชมจากเกม ฉะนั้นถ้าพ่อแม่มีสิ่งเหล่านั้นให้กับเขา ให้เขาได้ภาคภูมิใจในตัวเอง ให้เขามีความสุขสนุกสนานกับเรื่องอื่นๆ เขาจะเล่นเกมน้อยลง
สัมพันธภาพกับพ่อแม่ หรือบรรยากาศความอบอุ่นในบ้าน เด็กที่ไม่อบอุ่นก็ไม่อยากจะอยู่ใกล้พ่อแม่ มีความทุกข์อะไรก็ไม่กล้าเล่าให้ฟัง เขาก็ไหลเข้าไปหาเพื่อนที่อยู่ในออนไลน์ ที่เล่นเกม ไปเล่าไปพูดคุยมีความสุข มีความอบอุ่น เพื่อนใส่ใจ เป็นทุกข์มาเพื่อนปลอบใจ พวกนี้พ่อแม่ก็ต้องสร้างบรรยากาศตัวเองให้ลูกนั้นอยากเข้าหา ลูกอาจจะอยากเล่าความรัก หรืออยากเล่าเรื่องความทุกข์ ฟังเขาเสียก่อนที่จะติเขา
พ่อแม่มีความรัก มีความห่วงใย มีความปรารถนาดี อยากจะบอกว่าอะไรถูกอะไรควร บางครั้งบอกเร็วไป บางครั้งรีบแนะนำ ยังไม่ทันฟัง ไม่ทันปลอบใจ แต่ทั้งหมดด้วยความหวังดีนะ แต่ความหวังดีไม่พอ ต้องเพิ่มความพอดีด้วย
รักษาเด็กติดเกม มีใครเกี่ยวข้องบ้าง
เรื่องของเด็กติดเกมนั้น เกี่ยวข้องกับบุคคลและ สิ่งแวดล้อม
ไล่ไปตั้งแต่บุคคลวงเล็กก่อน คือตัวเด็กเอง เป็นเรื่องของความพอดี เรื่องการมีวินัย จะเล่นก็เล่นได้ ไม่ใช่เรื่อง คอขาดบาดตาย แต่ต้องรู้ว่าชีวิตต้องประสบความสำเร็จ หลายด้าน และชีวิตต้องสร้างต้นทุนสำหรับอนาคต
การเล่นเกม คือการเสพใช้ความสุขปัจจุบัน ไม่ได้สร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต
การอ่านหนังสือปัจจุบันทำให้อนาคตเรียนได้สูงขึ้น การวิ่งออกกำลังกายวันนี้ก็คือการทำให้หัวใจแข็งแรงใน วันข้างหน้า
ชีวิตของคนเราต้องทำอะไรก็ตามที่เป็นต้นทุนสำหรับอนาคตตลอดเวลา
"การเล่นเกม "เป็นต้นทุนสำหรับอนาคตแค่ไหน เรื่องนี้เด็กต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้มีความพอดี
ครอบครัวต้องทำตั้งแต่การป้องกันและการรักษา รายที่ไม่ได้เตรียมตัวลูก ป้องกันไม่ทัน ก็ต้องมาเริ่มที่การแก้ไข
การสั่งให้เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่สำเร็จ แต่พ่อแม่มักจะสั่งให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม คือหยุดเล่น และบอกให้ไปอ่านหนังสือ การสั่งแบบนี้ไม่ได้ผล
การที่บอกให้เด็กรู้เหตุผลว่าอะไรควร ไม่ควร เป็นเบื้องต้นนั้นดี แต่ต้องประกอบไปด้วยการให้กำลังใจ พ่อแม่จะต้องมองเห็นข้อดีของเด็กด้านอื่นๆ
บางทีเค้าเพิ่งรดน้ำต้นไม้ได้ดี หรือเพิ่งร้องเพลงชนะอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งทำรกน้อยหน่อย ก็ต้องมองว่าเป็นข้อดี
การสื่อข้อดีให้ลูกฟังบ้าง ลูกก็จะเงี่ยหูฟังเรามากขึ้น แม้จะเป็นข้อตำหนิข้อสอนตามมาหลังจากคำชมบ้างก็ทำให้อยากฟังมากขึ้น
สำหรับเด็กไม่ใช่เฉพาะเหตุผลว่าควรหรือไม่ควร แต่ว่าเขาอยากจะทำให้กับคนที่รู้สึกว่ารักเค้า เพราะคำว่ารัก คือความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกดีๆ เต็มล้นหัวใจพ่อแม่ แต่ไม่ได้บอกเขา ไม่ได้สื่อให้เขาเห็น การไปโอบไปกอด ให้ความอบอุ่น นุ่มนวล การพูดด้วยภาษาไพเราะ การชม เขาบ้าง การซื้อข้าวของ หรือพาไปเที่ยว ไปพูดคุยกัน ไปเล่นกัน สิ่งดีๆ สะท้อนความรัก
พวกนี้พ่อแม่มักลืมนึก หรือไม่มีเวลาพอที่จะทำ แต่จะรีบไปถึงสิ่งที่ลูกควรจะแก้ไข ก็รีบบอกเลยว่า ลูกต้องอย่างนี้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นอนาคตก็แย่ไปหมดเลย
พ่อแม่จะต้องไม่ตามใจลูกด้วยการเปลี่ยนเป็นอินเทอร์เน็ต 24 ชั่วโมง เปลี่ยนความเร็วของคอมพิวเตอร์ให้เพิ่มขึ้น ซื้อเกมให้แล้วก็บอกลูกว่าอย่าเล่นมากนะ ลูกก็เล่นเกมมาก แต่สำหรับบ้านที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ตปัญหาพวกนี้จะน้อย
มาตรการทางการเงิน พ่อแม่ที่ให้เงินลูกเหลือเฟือ ลูกก็ไปใช้หมด ฟุ่มเฟือย แต่ถ้าลูกที่ไม่ค่อยมีสตางค์ หมดแล้วเล่นได้เกมเดียว ก็หมดเกมเดียวเท่านั้น พ่อแม่ที่ไม่ได้จำกัดเรื่องนี้ ลูกขอมากี่ครั้งก็ให้ เพราะไม่อยากจะรบกับลูก นี่คือการให้ท้ายสิ่งที่ไม่ดี
โรงเรียนควรมีกิจกรรมทางเลือก ตอนนี้เด็กไม่มีพื้นที่ ที่จะทำอะไรอย่างอื่น แถวบ้านก็เป็นเมือง ออกไปก็ไม่รู้จะเล่นตรงไหน สมัยก่อนเล่นกันแถววัด ปัจจุบันไม่มีลานวัดที่เด็กจะไป ทุกคนก็อยู่กันหน้าโทรทัศน์ หน้าคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ไม่มีกิจกรรม ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กจะภาคภูมิใจผ่านกิจกรรมที่เขาถนัด เขาอยากร้องเพลง รวมตัวกัน ร้องเพลง อยากเล่นกีต้าร์รวมตัวกันเล่นกีต้าร์ อยากเตะฟุตบอลรวมตัวกันเตะฟุตบอล ตรงนั้นจะทำให้เขาภาคภูมิใจ สนุกสนาน เพราะฉะนั้นต้องสร้างกิจกรรมทางเลือกให้กับ เขา นอกจากเพลิดเพลินแล้ว เขาจะได้พัฒนาสิ่งที่เขาถนัด เป็นต้นทุนในอนาคต
กิจกรรมทางเลือก ทั้งบ้านและโรงเรียน หรือต่างคนต่างทำก็ได้ ทำเสริมกันไปก็ได้ แต่ทุกระดับเด็กต้อง มีความภาคภูมิใจในกิจกรรมที่เขาได้ทำด้วย
นอกโรงเรียน ร้านอินเทอร์เน็ต เรื่องของเกม ซึ่งก็ต้องเรียกร้องทั้งจิตสำนึก ที่เขาจะดูแลตัวเอง และรัฐก็ ต้องมาคุม เพราะว่าเป็นธุรกิจที่หากำไรจากเด็ก เด็กมีวิจารณญาณไม่มาก วางทอฟฟี่ไว้เขาก็อยากจะกินเพราะ เขาไม่รู้ว่าฟันจะผุ ถ้าปล่อยให้ทำธุรกิจเสรี ขูดเด็กได้เต็มที่ เด็กก็ชอบก็ติด ก็ไปขูดจากพ่อแม่มาอีกที ผลร้ายไปเกิด กับสังคมในอนาคต
เด็กเอาแต่เล่นเกม ไม่เรียนหนังสือ ไม่รับผิดชอบ ก็ไม่ใช่พลเมืองที่ดี สิ่งเหล่านี้รัฐต้องควบคุม ตั้งแต่ร้านก็ควรจะมีไม่มาก เปิดเผย โปร่งใส มีระบบระเบียบว่าเล่นได้ ไม่เกินเท่าไหร่ ร้านต้องบอกเด็กกลับบ้าน เป็นการสร้างและรักษาลูกค้าระยะยาว ถ้าร้านเกมหวังให้เด็กเล่นมากๆเพื่อเอากำไรสูงสุด เด็กจะทะเลาะกับพ่อแม่ ก็ไม่ได้มาเล่น แต่ถ้าเล่นพอประมาณแล้วกลับบ้าน พ่อแม่ไว้วางใจว่า ร้านนี้เตือนลูก ก็เป็นลูกค้าระยะยาว แบบนี้ก็ได้ ทีนี้ก็ไป จนถึง คือการลดความหนาแน่น อย่าให้ใกล้มาก ถูกมาก มีเวลาที่จำกัด
ตัวเกมเองก็เหมือนกัน เกมก็ต้องถูกควบคุมอย่าให้ติดมาก เพราะออกแบบเกมให้ติดมากได้ เอาโป๊ๆ มาใส่ เอารางวัลมากๆ ออกเชิงพนัน ทั้งกระตุ้นทั้งล่อ
รัฐต้องมาจัดเกรด เอ บี ซี ดี ว่าเด็กเข้าได้ช่วงไหน อย่างไหนห้ามเล่น ต่ำกว่าอายุเท่านี้ ไปจนกระทั่งปิดเลย ไม่ให้ใช้ ก็ต้องทำ เป็นการควบคุมทุกระดับ
หัวใจสำคัญของการรักษาเด็กติดเกม
1. เรื่องเกม อยู่ที่ความพอดี (ทางสายกลาง)
ถ้าไปสุดขั้ว 2 ทางจะไม่เหมาะ คือปล่อยให้เด็กเล่นโดยไม่จำกัดไม่ดีแน่นอน ห้าม 100
เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กยุคใหม่ขึ้นกับอินเทอร์เน็ต ขึ้นกับคอมพิวเตอร์ เราจะไปนั่งจ้อง นั่งเฝ้าเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ทางสายกลาง ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ลักษณะความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย แต่ไม่มากจนทำให้เสียการทำหน้าที่อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งจะรวมกับเรื่องของวินัยและความรับผิดชอบ คือมีวินัยในการควบคุมตนเอง ไม่เล่นมากเกินไป
2. ให้เด็กชื่นชมในสิ่งที่ดีกว่า
ไม่ใช่การแก้ที่เด็กโดย ตรง แต่เบี่ยงเบนให้เด็กออกไปทางอื่น ซึ่งสังคมพ่อแม่ต้อง เอื้อ ไม่ใช่อยู่ดีๆ สั่งให้ไปเล่นอย่างอื่นไม่ได้ต้องพาเขาไปจ่ายเงินให้เขาไป โรงเรียนจัดกิจกรรมนั้นขึ้นมาให้เขาได้ร่วมทำ พ่อแม่ก็ต้องหาวิธีให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมทางเลือก
3. การแก้ไขที่พ่อแม่
3.1 ทำสิ่งแวดล้อมรอบใกล้ตัวเด็ก เช่น จัดการเรื่องการเงิน การลดโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
3.2 วิธีสื่อสารกับเด็ก คือ ไม่ได้ตรงแบบสั่งการ ใช้อำนาจ ใช้อารมณ์ ต้องเข้าไปแบบเจรจา เข้าไปแบบ หนักแน่น แต่นุ่มนวล
หนักแน่นในกฎระเบียบ นุ่มนวลในท่าที คือบางทีไปแบบแข็งโป๊ก ก้าวร้าว ตวาด ด่า ถอดปลั๊ก หรือเข้าไปบอกลูกเลิกเถอะๆ พอลูกขอเล่นอีกหน่อยก็ยอม ขออีกชั่วโมงนะก็ยอม นี่คืออ่อนปวกเปียก แต่ว่าตกลงกันแล้ว 2 ชั่วโมง พ่อแม่ขอให้ลูกหยุด ทำกิจกรรมอย่างอื่นดีมั้ย คืออ่อนนอกแข็งใน
ส่วนเรื่องท่าทีรวมๆ ก็มีทั้งบวกและลบ คือต้องมี การเห็นข้อดีของเด็กบ้าง ต้องมีการชมเด็กบ้าง ไม่ใช่เห็นแต่ข้อร้ายไปหมด การไม่เห็นข้อดีไม่ใช่ลูกไม่มีข้อดีนะ แต่เพราะพ่อแม่ไม่รู้วิธีมองข้อดี
4. การจัดการสิ่งแวดล้อมภาพใหญ่
การคุมเกมที่ไม่ดี คุมร้านอินเทอร์เน็ต ถ้าไม่ควบคุมเลยก็จะเกิดปรากฏการณ์ คือ คนขายสินค้ากระตุ้นให้คนเล่น
คลินิกเด็กติดเกม และค่ายเด็กติดเกม มีส่วนแก้ปัญหาเด็กติดเกมอย่างไร
สิ่งที่ทำมีผลนะพยายามติดตามให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ที่ผ่านมาเชิงประสบการณ์รายบุคคล ร้อยละ 80-90 ที่ผ่านการอบรมเทคนิคเบื้องต้นในการดูแลลูกยุคไซเบอร์สำหรับพ่อแม่ไปดีขึ้น
คือดีตั้งแต่ลูกเลิกเล่นเกม บางคนเล่นน้อยลง บางคนเล่นเหมือนเดิมแต่สัมพันธภาพดีขึ้น เดิมอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ ไม่หันกลับมาทักทายพ่อแม่เลย ปัจจุบันลูกหันกลับมาทักทายพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เปลี่ยนท่าที พ่อแม่ไม่เกรี้ยวกราดเหมือนเดิม พูดกับเขาดีขึ้น ลูกก็หันมาฟังมากขึ้น หันมาทักทาย
ส่วนค่ายพ่อแม่ลูกผูกพันป้องกันปัญหายุคไซเบอร์ พ่อแม่ลูกไปด้วยกัน เขาก็ไปกอดกันร้องไห้ในค่าย เพราะเดิมเหมือนศัตรูกัน อยู่ในค่ายก็รู้ว่าต่างฝ่ายต่างรักกัน ต่างฝ่ายต่างอยากให้คนหนึ่งดี และก็ตั้งโจทย์ ตัวเขาเองจะ กลับไปแก้ไขอย่างไร คือต่างคนต่างกลับไปแก้ไขตัวเอง บรรยากาศที่บ้านดีขึ้น พ่อแม่บอกว่าฉันจะไม่ด่าแล้ว จะบอกดีๆ เดิมด่าตลอด ลูกก็บอกว่าจะคุมตัวเองมากขึ้น เล่นเกมไม่ให้เดือดร้อนใคร
ตอนอยู่ในค่าย ให้พ่อแม่ลูกเล่นบทบาทสลับกัน เด็กเล่นเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เล่นเป็นเด็ก
เด็กที่เล่นเป็นผู้ใหญ่ก็ไปเร่งบอกว่า เลิกยังๆ
พ่อแม่ที่เล่นเป็นเด็กก็บอกว่า เดี๋ยวๆ ก่อน คือใช้คำพูดลูก
ผู้ใหญ่ก็บอกว่า รู้ว่าคนมาเตือนบ่อยๆ รำคาญ
เด็กที่เล่นเป็นพ่อแม่บอกว่า เพิ่งรู้ว่าลูกบอกเดี๋ยวๆ นี่ น่าโมโหมากเลย ไม่เลิกสักที ไม่กินข้าวสักที ไม่นอนสักที
กลับไปบ้านเขาก็เปลี่ยนท่าที เข้าใจกันมากขึ้น
ในค่ายพัฒนาศักยภาพเด็กยุคไซเบอร์ เด็กบางคนก็ได้เรียนรู้วินัย เด็กบางคนก็ให้เขาทำหอคอยในค่าย รู้สึกว่าภูมิใจในตัวเอง ทำจนมือพอง แล้วก็ให้เขาดูเรื่องวิดีโอความยากลำบากของพ่อแม่ เด็กที่ทำประโยชน์ให้พ่อแม่กตัญญู เขาก็เกิดแรงบันดาลใจ ว่าเขาทำอะไรให้กับพ่อแม่ บ้าง สบายใจบ้าง เขาจะไปควบคุมการเล่นเกม ชีวิตของเขาก็ทำอย่างอื่นได้ พ่อแม่เปลี่ยนพฤติกรรม เด็กก็เปลี่ยนพฤติกรรม
การอบรมที่มีพ่อแม่อย่างเดียว พ่อแม่คนอื่น เอ้าลูกชั้นเล่นวันละ 2 ชั่วโมง ลูกเธอเล่น 10 ชั่วโมง อ้อ ด่าลูกทั้งวัน จริงๆ นิดเดียว ก็สบายใจขึ้นไปโมโห ลูกน้อยลง ลูกก็ดีขึ้น ประชดน้อยลง ไปจัดการเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องเงินทอง บางคนก็พาลูกไปตีเทนนิส ได้ออกกำลัง ได้ความภูมิใจ
นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการจัดค่ายเด็ก ค่ายครอบครัว และการอบรมพ่อแม่ยุคไซเบอร์
ทั้งเด็กและครอบครัว ต้องดูแลซึ่งกันและกัน
การดูแลเรื่องพฤติกรรม ไม่ใช่หมอวิเศษ เจ้าหน้าที่วิเศษ ที่จะใช้คำพูดบางคำ พบหมอไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่ครั้งแล้วลูกจะเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ ไม่เหมือนเชื้อหวัด ที่กินยา 7 วันทุกอย่างหายเป็นปลิดทิ้ง แต่เหมือนเบาหวาน เหมือนความดันสูง ขึ้นกับพฤติกรรม ต้องออกกำลังกาย บังคับตัวเองออกกำลังกาย กินอาหารที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาเด็กติดเกม เด็กต้องดูแลตัวเอง ผู้ปกครองดูแลตัวเอง หมอเป็นเพียงผู้บอกว่าเดินทางนี้สิ เดินวิธีนี้จะดี แต่ทั้งเด็กและผู้ปกครองจะต้องไปเดินเอง ไปล้มเอง ไปลุกเอง ไปจูงมือกันเอง เราไม่ใช่ผู้วิเศษ เด็กและผู้ปกครองต่างหากที่เป็นผู้วิเศษ ถ้าไปปฏิบัติแล้วจะได้ผล
การแก้ปัญหาเด็กติดเกม ทุกคนมีส่วนช่วยเยียวยาได้หมดตั้งแต่น้อยไปมาก
**ผู้ปกครองรายที่ 1 มองหาข้อดีของลูก
เด็กชายวัย 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 หมกมุ่นกับการเล่นเกม ขนาดที่คุณแม่บอกว่าเล่นเกมทั้งวันและทั้งคืน โดยเฉพาะวันหยุดจะเล่นเกมแบบไม่ลุกไปไหน เวลาพักผ่อนมีน้อยมาก ขาดความรับผิดชอบเรื่องเรียน ไม่ส่งงาน เป็นผลกับการเรียน ซึ่งเดิมผลการเรียนไม่ดีอยู่แล้วยิ่งลดลงอีก
ผลจากการเล่นเกม ทำให้กิจวัตรส่วนตัว กินนอนไม่เป็นเวลา ทำให้คนรอบข้างเครียดโดยเฉพาะแม่สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก แสดงอารมณ์โกรธ ก้าวร้าวใส่กัน
ผู้ปกครองได้พยายามแก้ไขด้วยการบ่นว่าตักเตือนยิ่งทำให้เสียสัมพันธภาพมากขึ้น
ภายหลังเข้ารับการอบรมได้นำความรู้มาปรับใช้ ด้วยการทบทวนการดูแลลูกที่ผ่านมา การใช้เวลาอย่างสมดุลระหว่างลูกกับงาน การจัดการกับอารมณ์ เริ่มที่การควบคุมตนเองไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา รับฟังความคิดเห็น ต่อรองอย่างสันติวิธี กำหนดตารางกิจกรรมและชักชวนไปตีเทนนิส ปรากฏว่าลูกก็ยังมีเวลาว่างอยู่มาก ทำให้การเล่นเกมไม่ลดลง จึงหันมาแนะนำให้ลูกเรียนดนตรี ซึ่งลูกมีความสนใจเป็นอย่างมากและมีความสุขที่จะได้เล่นกีตาร์
นอกจากนี้ ยังใช้วิธีจับถูกมากกว่าจับผิด เปลี่ยนจากตำหนิเป็นการมองหาข้อดีของลูกและชื่นชมอย่างจริงใจ ให้เวลากับลูกมากขึ้น เดิมมุ่งแต่ทำงานและเปลี่ยนจากกีฬาเป็นดนตรี โดยพาไปเรียนกีตาร์ ลูกซ้อมทุกวันเพื่อที่จะตามเพื่อนให้ทัน อยากเก่งกว่าคนอื่น จึงทำให้เลิกเล่นเกมและมุ่งมั่นใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ด้วยการเล่นกีตาร์ พร้อมทั้งไม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว
ปัจจุบันลูกเลิกเล่นเกม หันมาสนใจการเรียน มีความรับผิดชอบมากขึ้น สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น
**ผู้ปกครองรายที่ 2 ย้ายบ้านหนีร้านเกม
เด็กชายวัย 15 ปี และ 10 ขวบ เล่นเกมทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง ไม่รับผิดชอบการเรียน ไม่ทำการบ้าน ตื่นสาย ขาดความรับผิดชอบเรื่องการเรียน ทุกครั้งที่ลูกเล่นเกม แม่รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ บ่นว่า โต้เถียง ใช้อารมณ์ใส่กัน และเสียสัมพันธภาพโกรธไม่พูดกัน รอบบ้านเต็มไปด้วยร้านเกม ซึ่งภายหลังเข้ารับการอบรมผู้ปกครองเข้าใจสภาพปัญหามากขึ้นเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลลูก เริ่มต้นที่การควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่แสดงอารมณ์โกรธเมื่อเห็นลูกเล่นเกม พยายามต่อรองและตกลงกติกา ชื่นชมที่เขาทำตามกติกาได้
นอกจากนั้นสนับสนุนให้ลูกมีกิจกรรมสร้างสรรค์ชวนลูกไปเรียนกีตาร์ ลูกให้ความสนใจ และฝึกซ้อมทุกวัน ทำให้เวลาเล่นเกมลดลงและเล่นเพียงบางวัน ควบคุมการเล่นได้ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งการเรียนและการช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ได้ นอกจากนี้ยังปรับสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น ด้วยการย้ายบ้านหนีร้านเกม
ปัจจุบันครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้น สามารถพูดคุยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น
**ผู้ปกครองรายที่ ๓ พวกเราทุกคนคือคนสำคัญของลูก
ลูกของดิฉัน วัย 11 ขวบ สร้างความวิตกกังวลให้ดิฉันมาก เพราะลูกไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ ไม่ทำงาน ไม่ทำการบ้าน เล่นรุนแรงอยู่นิ่งไม่ได้ รอไม่เป็น ขี้ลืม เล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้ทั้งวันและทุกวัน (ส่วนใหญ่เล่นที่บ้าน)
ดิฉันได้ไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยแนวทางการรักษา และรับคำปรึกษา
ลูกได้ยาเพิ่มสมาธิกินก่อนเรียนหนังสือทุกวัน ร่วมกันกำหนดกติกาการเล่นเกม โดยให้เล่นเกมตามตารางที่กำหนดไว้และมีบทลงโทษอย่างชัดเจน
มอบงานให้ลูกมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว เช่น ช่วยทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารปลา ช่วยล้างรถ เติมน้ำดื่ม
มีการพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำบุญ ตักบาตร เที่ยวชมธรรมชาติ
ย้ายคอมพิวเตอร์มาไว้ในห้องกลาง ทำให้ลูกเกรงใจที่ จะต้องเล่นนานๆ
ให้ทำกิจกรรมที่มีความท้าทาย ดูว่าลูกมีทักษะทางไหน บ้าง ซึ่งดูแล้วพบว่าลูกชอบด้านกีฬา จึงสนับสนุนให้เล่นกีฬา ทุกอย่างที่อยากเล่น เช่น เทนนิส ฟุตบอล บาสเกตบอล ตะกร้อ แต่เวลาก็ยังเหลืออยู่ จึงเสริมด้านดนตรี ลูกขอเล่นกีตาร์ จึงหาอุปกรณ์ให้ ฝึกหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกวันนี้เล่นกีตาร์แทนการเล่นเกมโดยสิ้นเชิง จนสามารถแสดงบนเวทีของโรงเรียน
จากวิธีการทั้งหมด พบว่าลูกปฏิบัติตัวได้ดีขึ้น เลิกเล่นเกมไปเลย หรือนานๆ ครั้ง เก็บของเป็นระเบียบเรียบร้อย รับผิดชอบตัวเองมากขึ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบความสำเร็จด้วยดี จากองค์ประกอบ 3 อย่างคือ
1. ตัวเอง (แม่)
ให้ความรัก เอาใจใส่ลูกมากขึ้น พูดคุยกับลูกดีๆ ไม่ใช้อารมณ์ รับฟังความรู้สึกของลูก พยายามมองเห็นความดีของลูก สอนให้ลูกรู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิต และเล่าเรื่องความสำเร็จของคนอื่นให้ฟัง ให้กำลังใจลูก มีคำชม หรือรางวัล เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ
2. ตัวลูก
ลูกให้ความร่วมมือดี และส่งสัญญาณที่ดี
3. ทีมงานดี
ทีมงานประกอบด้วย คณะแพทย์ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ทุกวันนี้ตัวเองและลูกยังมีความประทับใจทีมงานที่ ช่วยให้ลูกมีโอกาสที่ดีของชีวิตในกิจกรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่า ขอขอบคุณทีมงานทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน เพราะพวกเราทุกคนคือคนสำคัญของลูก
**บทสัมภาษณ์คุณน้อย (นามสมมุติ) เจ้าของร้านเกมย่านบางเขน
o ทำไมคุณน้อยจึงเลือกที่จะเปิดร้านเกม
"เคยทำงานฝ่ายบัญชีของบริษัทหนึ่ง พอเครียดจากงาน ก็เลยหากิจกรรมแก้เหงาทำวันหยุด
ตอนนั้นเข้าไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาแฟ่เพื่อแชตคุยกับเพื่อนๆ สังเกตว่า ในร้านมีแต่เด็กนักเรียนนั่งกันเต็มทุกเครื่อง พวกเขาน่าจะอายุไม่เกิน 18 ปี ด้วยซ้ำไป รู้สึกว่าร้านแบบนี้รายได้ดีจริงๆ เพราะเด็กก็จะเข้ามาเล่นทุกวัน หน้าเดิมทุกคน จึงได้รวบรวมเงินก้อนใหญ่ เกือบ 4 แสนบาทเพื่อเปิดร้านของตัวเอง ตอนนี้ก็เปิดมาได้หลายปีแล้ว
o อัตราค่าใช้บริการของร้านคุณน้อยเท่าไร?
" ที่ร้านเก็บค่าเล่นชั่วโมงละ 15 บาท หากเล่นครบ 5 ชั่วโมง แถมฟรี 1 ชั่วโมง ค่าชั่วโมงของแต่ละร้านเก็บไม่เท่ากันหรอก ร้านไหนอยู่ใจกลางเมืองหน่อย ราคาก็จะขยับขึ้นมาอีก แต่ถ้าร้านไหนมีคู่แข่งอยู่ติดกันหลายร้าน ราคาก็จะตกลงมาก บางพื้นที่ผมเห็นชั่วโมงละ 6 บาทก็มี ทุกวันนี้ร้านอินเทอร์เน็ตตัดราคากันเอง กำไรลดลงกว่าเมื่อก่อนมาก"
o คุณน้อยมีทรรศนะอย่างไรกับคำว่า เด็กติดเกม?
" ทุกวันนี้ รู้สึกเหมือนตนเองเป็นคนทำลายเด็ก เด็กบางคนอยากเล่นเกมมากจนขโมยเงินพ่อแม่มา พอพ่อแม่จับได้ตามมาตีที่ร้านก็มี เด็กบางกลุ่มเล่นเกมไปทับถมเพื่อนไป ข้าชนะแกแพ้ เหน็บแนมกันไปมา จนลุกขึ้นมาชกต่อยกันก็บ่อย บางรายเล่นจนเป็นลมคาคีย์บอร์ดเพราะไม่ยอมกินข้าวก็มี หรือรายหนักที่สุด เล่นจนไม่ยอมไปโรงเรียน ไล่ให้ไปเรียนก็เถียงอีก ขนาดผมยังเถียงขนาดนี้ แล้วกับพ่อแม่จะขนาดไหน
แฟนต้องการให้เลิกทำกิจการนี้ เพราะลูกชายของเรามีอาการแขนทั้ง 2 ข้างไม่มีแรง น้องบอยจะไม่สามารถยกแขนได้สุด แฟนบอกว่า มันเป็นกรรมเวรที่ตามมาสนอง เพราะทำลายลูกคนอื่นไว้มาก
o คุณน้อยมีคำแนะนำแก่ผู้ปกครองของน้องๆ ที่ติดเกมอย่างไรบ้าง?
"ผมอยากแนะนำให้พ่อแม่ใส่ใจลูกสักนิด ไม่ใช่เอะอะก็โยนเงินใส่มือให้เด็กวิ่งเข้าร้านเกม เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นไม่ต้องคอยดูแลลูก
ต้องการให้พ่อแม่ตามลูกเข้ามาดูในร้านสักหน่อยว่า ร้านแออัดสกปรก หรือเสียงดังมากเกินไปหรือเปล่า และเด็กมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อได้เล่นเกมที่โหดร้ายทารุณ อยากจะบอกพ่อแม่ทุกคนว่า เด็กในร้านของผมทุกคนใช้คำหยาบคาย ลามก และรุนแรงทุกครั้งที่พวกเขาเล่นเกม ถ้าคุณอยากให้ลูกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ก็เอาเงินใส่มือเขาเถอะ "
การจัดระดับความรุนแรง ความเหมาะสมของเกมออนไลน์
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย และได้เป็นแนวทางการจัดระดับความรุนแรง ความเหมาะสมของเกมออนไลน์ประกอบด้วยป้ายจัดระดับ แนวทาง วิธีการตลอดจนคะแนนในการให้ป้ายระดับ ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้ในการจัดระดับเกมออนไลน์ในประเทศไทย
Cr. http://www.doctor.or.th/article/detail/4096